1. ความเป็นมา
1.1 อนุสัญญาห้ามอาวุธเคมี
อนุสัญญาห้ามอาวุธเคมี เป็นอนุสัญญาที่มีวัตถุประสงค์ห้ามรัฐภาคีใช้อาวุธเคมีในการทำสงคราม ห้ามพัฒนา ผลิต สะสมอาวุธเคมี และให้ดำเนินการทำลายอาวุธเคมีที่ได้ผลิตและมีอยู่ในครอบครอง รวมทั้งให้มีการตรวจพิสูจน์ยืนยัน(verification) การดำเนินการดังกล่าวด้วย และให้มีการควบคุมการผลิต ครอบครอง ขาย นำเข้า ส่งออก และส่งผ่านสารเคมีพิษและสารที่อาจใช้ผลิตสารเคมีพิษตามที่อนุสัญญาควบคุมอย่างเข้มงวดอีกด้วย แต่อนุญาตให้ใช้สารเคมีที่ควบคุมตามอนุสัญญา เพื่อการอุตสาหกรรม การเกษตร การวิจัย การแพทย์ การเภสัช วัตถุประสงค์ทางสันติ หรือวัตถุประสงค์ทางทหารที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการใช้เป็นอาวุธหรือคุณสมบัติอันเป็นพิษของสารเคมีเพื่อการสงคราม เช่น การวิจัยเพื่อใช้ป้องกันอาวุธเคมี
อนุสัญญานี้เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับการลดอาวุธทั่วโลก โดยที่ประชุมใหญ่สมัชชา สหประชาชาติสมัยสามัญ รับรองอนุสัญญา ในการประชุมครั้งที่ 47 เมื่อ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2535 และจะมีผลบังคับใช้ใน 180 วัน หลังจากที่มีการมอบสัตยาบันสาร (instrument of ratification) 65 ประเทศ แต่จะไม่มีผลบังคับใช้ก่อน 2 ปี หลังจากเปิดให้มีการลงนามเมื่อวันที่ 13-15 มกราคม 2536 ซึ่งอนุสัญญาห้ามอาวุธเคมี มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2540 ปัจจุบันมีประเทศที่ให้สัตยาบันและภาคยานุวัติเป็นรัฐภาคี (States Parties) แล้ว 180 ประเทศ (ข้อมูลเดือนพฤศจิกายน 2549)
ภายหลังอนุสัญญาห้ามอาวุธเคมีมีผลบังคับใช้ได้มีการจัดตั้งองค์การห้ามอาวุธเคมี(Organisation for the Prohibition of Chemicals Weapons Convention: OPCW) ขึ้น ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อทำหน้าที่ดูแลการดำเนินการให้เป็นไปตามอนุสัญญาห้ามอาวุธเคมี ประกอบด้วยหน่วยงานหลัก 3 หน่วยงานคือ
- ที่ประชุมรัฐภาคี ประกอบด้วยสมาชิกทั้งหมดขององค์การ โดยมีการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาฯ ปีละหนึ่งครั้งเป็นประจำทุกปี
- คณะมนตรีบริหาร ประกอบด้วยสมาชิก 41 รัฐ โดยได้รับการเลือกตั้งจากที่ประชุม รัฐภาคี ซึ่งรัฐภาคีทั้งหลายมีสิทธิ์ที่จะปฏิบัติหน้าที่ในคณะมนตรีบริหาร ตามหลักการหมุนเวียน และมีวาระครั้งละ 2 ปี การเลือกองค์ประกอบของคณะมนตรีบริหารให้กระจายตามเขตภูมิศาสตร์อย่างเป็นธรรม โดยให้ความสำคัญด้านอุตสาหกรรมเคมี ผลประโยชน์ทางการเมือง และความมั่นคง เลือกจากแต่ละภูมิภาค 41 รัฐ คือ จากทวีปแอฟริกา 9 รัฐ จากทวีปเอเชีย 9 รัฐ จากยุโรปตะวันออก 5 รัฐ จากลาตินอเมริกาและแคริบเบียน 7 รัฐ ยุโรปตะวันตกและรัฐภาคีอื่น 10 รัฐ และหมุนเวียนระหว่างเอเชีย/ลาตินอเมริกาและแคริบเบียนอีก 1 รัฐ
- สำนักงานเลขาธิการฝ่ายวิชาการ มีหน้าที่ช่วยเหลือที่ประชุม และคณะมนตรีบริหาร และดำเนินการพิสูจน์ยืนยัน และหน้าที่อื่นๆ ที่ได้รับมอบหมายจากที่ประชุม และคณะมนตรีบริหาร
1.2 ประเทศไทยกับการให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาห้ามอาวุธเคมี
(1) ไทยเข้าร่วมลงนามในอนุสัญญาห้ามอาวุธเคมี เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2536 และ กระทรวงอุตสาหกรรมได้รับมอบหมายเป็นหน่วยประสานงานหลักระดับชาติ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2535 ซึ่งต่อมาได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแห่งชาติว่าด้วยการห้ามอาวุธเคมี ภายใต้สำนักควบคุมวัตถุอันตราย กรมโรงงานอุตสาหกรรม ขึ้นรองรับการดำเนินการเกี่ยวกับอนุสัญญาห้ามอาวุธเคมี
(2) เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2540 คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้แต่งตั้งคณะกรรมการประสานงานแห่งชาติเพื่อการปฏิบัติให้เป็นไปตามอนุสัญญาว่าด้วยการห้ามอาวุธเคมี และคณะกรรมการควบคุมการปฏิบัติงานเพื่อให้เป็นไปตามอนุสัญญาว่าด้วยการห้ามอาวุธเคมี ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ
(3) เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2543 คณะรัฐมนตรีอนุมัติการให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญาห้ามอาวุธเคมี และให้ส่งอนุสัญญาว่าด้วยการห้ามพัฒนา ผลิต สะสม และใช้อาวุธเคมี และว่าด้วยการทำลายอาวุธเหล่านี้ เสนอรัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยเนื่องจากจะต้องออกกฎหมายใหม่เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดอนุสัญญาก่อนจะดำเนินการให้สัตยาบันต่อไป
(4) รัฐสภาให้ความเห็นชอบอนุสัญญาห้ามอาวุธเคมี เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2543
(5) ภายหลังการดำเนินการออกกฎหมายเพื่อรองรับพันธกรณีของอนุสัญญาแล้ว กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการส่งมอบสัตยาบันสารเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาห้ามอาวุธเคมีต่อเลขาธิการสหประชาชาติ ในฐานะผู้เก็บรักษาสนธิสัญญา เมื่อ 21 พฤศจิกายน 2545 โดยเลขาธิการสหประชาชาติในฐานะผู้เก็บรักษา สนธิสัญญา ได้รับมอบสัตยาบันสารอย่างเป็นทางการเมื่อ 10 ธันวาคม 2545 และภายหลังส่งมอบสัตยาบันสาร 30 วัน อนุสัญญาจึงจะมีผลใช้บังคับต่อไทย และถือว่าไทยเป็นภาคีอนุสัญญาฯ โดยสมบูรณ์ในวันที่ 9 มกราคม 2546 ในลำดับที่ 148
2. หน่วยงานรับผิดชอบ
กระทรวงอุตสาหกรรมได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยประสานงานหลักระดับชาติ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2535 โดยทำหน้าที่ประสานงานกับส่วนราชการและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแลและรายงานการดำเนินงานต่างๆ ตามพันธกรณีของอนุสัญญาฯ ตลอดจนพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบภายในต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับอนุสัญญาฯ เพื่อดำเนินการให้สัตยาบันต่ออนุสัญญา ซึ่งต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2546 ให้ศูนย์ปฏิบัติการแห่งชาติว่าด้วยการห้ามอาวุธเคมี สำนักควบคุมวัตถุอันตราย กรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นหน่วยงานระดับชาติ (National Authority: NA) เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานแห่งชาติ ในการประสานงานกับองค์การห้ามอาวุธเคมีและรัฐภาคีอื่น และดำเนินการต่าง ๆ ตามพันธกรณีของอนุสัญญาห้ามอาวุธเคมี รวมทั้งปฏิบัติหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการประสานงานแห่งชาติเพื่อการปฏิบัติให้เป็นไปตามอนุสัญญาห้ามอาวุธเคมี